มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
สัมภาษณ์พิเศษ มจพ. สร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส (โควิด-19)
News Date23 เมษายน 2564
     รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และ ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย  ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  เปิดตัว "หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” มีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน เรียกว่าเป็นระบบการสร้างละอองฝอยแบบ ยูแอลวี (ULV cold fog generator) ด้วยปั๊มแรงดันสูง 12 บาร์ มีอัตราการไหล 1 ลิตรต่อนาที ใช้หัวฉีดพ่นจำนวน 16 หัวฉีด (หัวฉีดละเอียดชนิดพิเศษ) แบ่งเป็นระบบหัวพ่นเป็นวง 8 หัว และระบบหัวพ่นแบบทำงานร่วมกับพัดลมแรงดันสูง 8 หัว เนื่องจากขนาดละอองฝอยเฉลี่ย 50 ไมครอน จะสามารถพยุงตัวในอากาศได้นาน แล้วใช้ลำอากาศความดันและอัตราการไหลสูง นำพาละอองฝอยน้ำยาให้เคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร ส่งผลให้ละอองฝอยน้ำยาครอบคลุมไปทุกพื้นที่ การใช้ปริมาณน้ำยาต่อพื้นที่สม่ำเสมอ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง (ใช้น้ำยาผสม 25 ลิตร) จากการทดสอบการทำงานสามารถฉีดพ่นครอบคลุม พื้นที่ 37,680 ตารางเมตรต่อ 50 นาที หุ่นยนต์จะช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำงาน และลดความเมื่อยล้าของผู้ฉีดพ่น
       
     หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ถูกออกแบบให้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” เพิ่มความสะดวกสบาย และสามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้ ลดความเสี่ยงให้กับผู้ทำการฉีดพ่น จากการบังคับขับหุ่นยนต์ผ่านกล้อง ผ่านระบบสัญญาวิทยุ และมีจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหุ่นยนต์  เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายมากขึ้น และสามารถปรับมุมได้ตามความเหมาะสมของสถานที่ และหมุนรอบแกน 120 องศา ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 เซนติเมตร มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส งบประมาณที่ใช้ประมาณ 70,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย และต้านภัยโควิด มจพ.” 
       
     ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดระลอก 3 พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยใกล้เคียงกับ 2 รอบที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่สามารถใช้ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากการสัมผัส  เช่น โรงพยาบาลสนาม อาคารสำนักงาน พื้นที่ชุมชน เป็นต้น เนื่องจากการใช้หุ่นยนต์เข้าไปทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค จะมีความปลอดภัยสูง ลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น เพราะการควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ สามารถเว้นระยะห่างของการฉีดพ่นได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรวมแบ่งปันน้ำใจและดูแลให้ประเทศไทยพ้นภัยครั้งนี้ ด้วยการสร้าง "หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส"  นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 เพื่อตอบโจทย์การยกระดับความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้บุคลากร มจพ. ผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ
       
      รศ.ดร. ศุภชัย  เล่าให้ฟังว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  เป็นการออกแบบสร้างหุ่นยนต์บังคับไร้สายเอนกประสงค์ในการบรรทุกอุปกรณ์ไปยังจุดเสี่ยงโรค เพื่อสร้างระบบฉีดพ่น ด้วยหลักการปั๊มแรงดันสูง เพื่อให้น้ำเกิดการแตกตัว และการนำส่งได้ระยะไกล อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขาภิบาล ส่วนกลุ่มเป้าหมาย เน้นให้ความสำคัญกับการบริการทางสังคม รวมถึงขนส่งมวลชน   ศาสนสถาน ศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียน  มหาวิทยาลัย และแหล่งชุมชน ตลอดจนตลาด  ห้างสรรพสินค้า และโรงมหรสพ เป็นต้น
       
     หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส สามารถตอบโจทย์พื้นที่เสี่ยงภัยจากการสัมผัส และการพุ่งกระจายในอากาศ ดังเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งการนำหุ่นยนต์เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้เป็นอย่างดี ใช้แบตเตอร์รี่  55 แอมแปร์  2  ลูก  และมีวงจรชาร์จแบตเตอร์รี่ในระบบ  12  โวลต์และ  24  โวลต์ จ่ายไฟทำงานต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 150 นาที พร้อมพัดลมความเร็วรอบสูง มีกล้องช่วยในการมองขณะขับเคลื่อน สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
        1. ระบบไอพ่น : เริ่มจากการใช้น้ำยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ และมีผลการวิจัยสนับสนุน การยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ ใช้ระบบสร้างความดันน้ำยาถึง 12 บาร์ แล้วผ่านรูเล็ก จากความดันสูงสู่ความดันบรรยากาศจึงทำให้เกิดการแตกตัวเป็นฝอยละออง จากนั้นนำส่งน้ำยาด้วยลำอากาศความเร็วลมสูงทำให้น้ำยาพ่นไปไกล 5-7 เมตร
        2. ระบบหุ่นยนต์ : การออกแบบโครงสร้าง การวางตำแหน่งล้อ การสมดุลน้ำหนัก เพื่อให้การเคลื่อนตัวหุ่นยนต์เป็นไปอย่างราบเรียบ ด้วยการกำหนดความเร็ว สามารถเคลื่อนที่ไปในทุกพื้นที่ ใช้ล้อยางเต็มลม 2 ล้อ และเสริมด้วยล้ออิสระ 2 ล้อ
        3. ระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร : เป็นสัญญาณวิทยุ ระยะของการบังคับ 50 เมตร กรณีที่โล่ง มีระบบ เปิด-ปิด การจ่ายน้ำยา และควบคุมหัวไอพ่นไปในทิศทางที่ต้องการได้ การบังคับการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ผ่านกล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของตัวหุ่นยนต์  เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายมากขึ้น
          ผศ.ดร. สถาพร อธิบายว่า นอกจากนี้หุ่นยนต์ใช้วงจรควบคุมความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าของหุ่นยนต์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1)  ตัวส่งจะมีลักษณะเป็น Joy Controller ที่รับคำสั่งจากผู้ใช้งาน ประกอบไปด้วยสวิตช์ควบคุม ตัวส่งสัญญาณวิทยุและจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ ตัวส่งจะรับค่าปุ่มกดจากผู้ใช้และส่งค่าไปหาตัวหุ่นยนต์ผ่านคลื่นวิทยุ เพื่อควบคุมหุ่นยนต์  และ 2) ตัวรับจะประกอบไปด้วยตัวรับวิทยุทำหน้าที่รับข้อมูลจากตัวส่งวิทยุ  ส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์ ซึ่งมอเตอร์จะแบ่งออก 3 ส่วนคือ (1) มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อ (2) มอเตอร์หมุนหัวพ่น ใช้สำหรับหมุนชุดพ่น และ (3) มอเตอร์ไอพ่นจะติดตั้งอยู่ในกระบอกพ่น สามารถปรับความเร็ว ปรับความแรงของลมให้มากน้อยตามความเหมาะสมของสถานที่   
         
     อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้ถูกทดสอบและนำไปทำงานภาคสนามโดยฉีดพ่นเพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยได้ฉีดพ่นในห้องประชุม สถานที่ประชุม สนามกีฬาในร่ม สถานที่ทำงาน สำนักงาน สนามกีฬา และโรงอาหาร นับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม ตอบโจทย์กับความต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ผลงานจากรั้ว มจพ. ที่สร้างสรรค์เพื่อคนไทย ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอเชิญชวนร่วมบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ได้ที่ “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัย สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน
         
      สนใจและสอบถามข้อมูลหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส (โควิด-19) ได้ที่ รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 081-645-5411 หรือที่ LINE : supachai_line
 
ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ