เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเสวนา “สานพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทย ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” ในการประชุมและนิทรรศการเพื่อการขับเคลื่อนชุมชนพื้นที่ “นวัตกรชุมชน : เทคโนโลยีที่เหมาะสมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทย” การประชุมได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ มาให้การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนวัตกรชุมชนในฐานะพลังเปลี่ยนประเทศจากฐานราก จากนั้น เป็นการเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ และจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏและราชมงคล
ในการเสวนา ศ.ดร.สมฤกษ์ ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ในส่วนงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศ.ดร.สมฤกษ์ ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ต. เนินหอม อ. เมือง จ. ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการวิจัยโดย รศ.ดร.ทิชากร เกษรบัว และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการทำงานวิจัยที่เป็นไปตามหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อันเป็นหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจชุมชนและความต้องการของนักท่องเที่ยว จากนั้นพยายามเข้าถึงประชาชนในพื้นที่และผู้นำชุมชน สร้างความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจกัน จนนำไปสู่การสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน กล่าวคือการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว โครงการนี้เป็นการบูรณาการความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ มจพ. และการมีส่วนร่วมของนักศึกษา เช่นทางด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาภูมิทัศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นอกจากนี้ ศ.ดร.สมฤกษ์ ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างธุรกิจระดับสากล อันได้แก่การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรง โดย อ.ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ และคณะ จาก มจพ. วิทยาเขตระยอง โครงการนี้ได้มีการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล ได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำผึ้งให้ได้ผลิตภาพที่สูงขึ้นผ่านการวิจัยพื้นฐานกระทั่งได้สูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงผึ้งชันโรง และมีการพัฒนาโรงเรือนต้นแบบและกำลังอยู่ในช่วงการขยายผลไปออกไปสู่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในวงกว้างขึ้น โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทของมหาวิทยาลัยในการเป็นหัวหอกสำคัญเพื่อสร้างงานวิจัยเพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ประชาชนคนไทยมีรายได้มากขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
พัทธนันท์/ข่าว
สมเกษ/ภาพ