มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
สารจับยาง IR
News Date27 พฤษภาคม 2562

สารจับยาง IR

 

สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มีฝนตกมากกว่าแดดออก พอชาวสวนไปกรีดยางแล้วเกิดฝนตก น้ำยางที่กรีดมาไม่สามารถเอาไปขายได้   เพราะน้ำฝนจะเข้าไปผสมรวมกับน้ำยาง ทำให้ ค่าดีอาร์ซี (ค่าเนื้อยางในน้ำยาง) ต่ำกว่าปกติ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด  ชาวสวนยางทำได้อย่างเดียวคือคว่ำถังเททิ้ง ผลสำรวจความเสียหายจากปัญหาการทิ้งน้ำยางโดนฝน เฉพาะใน เขตภาคใต้ ของประเทศ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยวันละ 2 แสนบาท หรือ ปีละ 73 ล้านบาท ถ้ารวมทั้งประเทศมูลค่าความเสียหายก็ตกปีละร้อยกว่าล้านบาท

สารจับยางไออาร์ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้ในสวนยาง มีคุณสมบัติในการแยกเนื้อยาง (Dry rubber content, DRC) ที่มีความเข้มข้นตํ่าออกจากน้ำยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่หยดสารจับยางไออาร์ผสมลงไปในน้ำยางพาราที่โดนฝน ในอัตราส่วน 1 ต่อ 50-150 แล้วคนให้เข้ากัน เพียงเดี๋ยวเดียวก็สามารถจับเนื้อยางได้ถึง 99.9% โดยใช้หลักการการจับยางด้วยประจุและดึงยางให้รวมตัวเป็นก้อน แค่นี้ชาวสวนยางก็นำยางพาราที่จับตัวเป็นยางก้อนไปจำหน่ายได้ทันที ที่สำคัญราคาคุ้มค่า จึงถือเป็นนวัตกรรมช่วยลดความสูญเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้เป็นอย่างดี

สารจับยางไออาร์ยังใช้ได้กับนํ้ายางทุกประเภท ทั้งนํ้ายางสด นํ้ายางสดผสมแอมโมเนีย นํ้ายางข้น   หางน้ำยาง น้ำยางเจือจางที่เกิดจากการล้างอุปกรณ์ในโรงงานน้ำยาง จากผลการวิจัยพบว่ายางที่จับเป็นก้อนด้วยสารจับยางไออาร์มีคุณสมบัติเชิงกล ค่าความหนืด และคุณสมบัติอื่นๆไม่แตกต่างจากการใช้น้ำกรดจับก้อน

กล่าวโดยสรุปสารจับยาง คือ สารที่ใช้แยกเนื้อยางพาราที่มีความเข้มข้นต่ำออกจากน้ำ เช่น น้ำยางพาราสดที่โดนน้ำฝนจากการกรีดยางในฤดูฝน โดยมีหลักการทำงาน คือ สารจับยางจะทำปฏิกิริยาแตกตัวเป็นไฮโดรเจนไอออน (H+) จากนั้นจึงไปจับกับโมเลกุลของเนื้อยางซึ่งมีประจุลบ ส่งผลให้โมเลกุลยางพาราจับตัวเป็นก้อน (Coagulation)

 

ประโยชน์ของสารจับยาง

-สามารถจับเนื้อยางพาราที่มีความเข้มข้นต่ำได้

-สามารถแก้ปัญหาน้ำยางที่มีปริมาณน้ำยางพาราสด (Dry Rubber Content; DRC) ต่ำ จากการกรีดยางในฤดูฝน

-สามารถจับเนื้อยางคืนจากหางน้ำยางเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา

-สามารถจับเนื้อยางเพื่อบำบัดน้ำทิ้งของโรงงานเตรียมน้ำยางข้น

-สามารถจับเนื้อยางพาราได้อย่างรวดเร็ว

-สารจับยาง IR ไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพของเนื้อยางพารา

-สามารถจับเนื้อยางจากน้ำยางพาราทุกประเภท ยกตัวอย่าง เช่น น้ำยางพาราสด น้ำยางพาราผสมแอมโมเนียและน้ำยางพาราข้น เป็นต้น

 

สอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมที่

โทร 06 2341 2895

E-mail: cii@tggs.kmutnb.ac.th (คลินิกนวัตกรรม)